หัวข้อคำถาม :  34. ข้อมูลการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน (เพิ่มเติม)
     1. วิสาหกิจชุมชนเมื่อมาจดทะเบียนแล้ว จะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ขึ้นอยู่กับสถานภาพเดิมของวิสาหกิจชุมชนก่อนมาจดทะเบียน เช่น กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่เป็นนิติบุคคล เมื่อจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนแล้วก็จะยังมีสถานภาพเป็นกลุ่มที่ไม่เป็นนิติบุคคลเช่นเดิม แต่การรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรจะมีกฎหมาย (พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ.2548) รองรับ แตกต่างจากเดิมก่อนจดทะเบียน ที่กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรจะไม่มีกฎหมายรองรับ 
     2. การกำหนดให้วิสาหกิจชุมชนจะต้องเกิดจากการรวมกลุ่มบุคคลไม่น้อยกว่า 7 คน พิจารณาจากเป็นกลุ่มขนาดเล็กที่สุดที่เหมาะสมที่จะช่วยกันประกอบการได้ หากกลุ่มเล็กกว่านี้อาจมีปัญหาการช่วยกันประกอบการ และเทียบเคียงกับการขอจัดตั้งบริษัทที่จะต้องมีคนตั้งแต่ 7 คนขึ้นไปจึงจะขอจดทะเบียนเป็นบริษัทได้ 
     3. คำว่า”ครอบครัว” ในความหมายที่ใช้สำหรับวิสาหกิจชุมชนที่จะมาจดทะเบียน หมายถึง บุคคลที่มีความสัมพันธ์ในฐานะสามี ภรรยา บุตร โดยบุตรยังไม่มีครอบครัวใหม่และอยู่ร่วมครัวเรือนเดียวกัน 
     4.วิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนแล้ว อาจถูกยกเลิก เพิกถอนทะเบียนได้ หากไม่ดำเนินการตามระเบียบและประกาศของคณะกรรมการฯ และวิสาหกิจชุมชนที่ถูกเพิกถอนมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตามที่ระเบียบกำหนด 
     5. วิสาหกิจชุมชนสามารถยื่นขอจดทะเบียนได้ที่ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยี การเกษตรประจำตำบลหรือสำนักงานเกษตรอำเภอ ซึ่งขณะนี้มีสำนักงานเกษตรอำเภอ/กิ่งอำเภอ จำนวน 879 แห่ง ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล จำนวน 7,111 ศูนย์ 
     6. วิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนแล้ว จะสามารถขอรับการส่งเสริม สนับสนุน ได้ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ.2548 โดยสามารถยื่นเสนอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลหรือสำนักงานเกษตรอำเภอ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้ให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นก่อน หรือประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือตามความต้องการของวิสาหกิจชุมชนต่อไป 
     7. สาเหตุที่กำหนดให้วิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่มาจดทะเบียนจะต้องมีคำว่า “วิสาหกิจชุมชน” และ”เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน” อยู่หน้าชื่อ เพื่อบอกให้ทราบถึงการเป็นวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน สามารถแยกแยะออกจากกลุ่มหรือเครือข่ายต่าง ๆ ที่มีอยู่หลากหลายในปัจจุบันได้ 
     8. วิสาหกิจชุมชนที่มาจดทะเบียนจะได้รับการรับรองตามกฎหมาย สามารถขอรับและมีสิทธิได้รับการส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนากิจการวิสาหกิจชุมชนตามมาตรการที่คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนกำหนด ซึ่งจะส่งผลทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ แต่ถ้าวิสาหกิจชุมชนใดไม่มาจดทะเบียน การรวมกลุ่มก็จะไม่ได้รับรองตามกฎหมาย ไม่สามารถขอรับและได้รับการส่งเสริม สนับสนุนตามพ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ.2548 ตัวอย่างเช่น กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ซึ่งขณะนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานของรัฐ แต่ยังไม่มีกฎหมายใดรองรับการรวมกลุ่ม แต่เมื่อมาจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน จะเป็นกลุ่มที่มีพ.ร.บ.รองรับ และในขณะเดียวกัน ในการส่งเสริมเดิม กลุ่มแม่บ้านฯ ก็จะได้รับการส่งเสริมตามภารกิจของหน่วยงานที่จัดตั้งกลุ่มแม่บ้านฯ ซึ่งอาจมีความไม่แน่นอน แต่เมื่อมาจดทะเบียนก็จะสามารถขอรับและได้รับการส่งเสริมตามที่ พ.ร.บ. กำหนด 
     9. เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่มาจดทะเบียนต้องประกอบด้วยวิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนแล้วตั้งแต่ 2 วิสาหกิจชุมชนขึ้นไป โดยอาจบุคคลภายนอกร่วมเป็นสมาชิกด้วยก็ได้ 
 
 
 
 
ขอเชิญร่วมตอบคำถามครับ
ความคิดเห็น
โดย
E-mail
แทรกลิงค์ URL แทรกรูป ย่อหน้า ตัวหนา ตัวเอียง เส้นใต้ สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน สีส้ม สีชมพู สีเทา     
  
 
ปิดหน้าต่าง